ผู้ใหญ่ร่ม วรรณประเสริฐ จุดประกายชาวนาตามหา 'ปุ๋ยสั่งตัด'
“ความรู้ไม่ได้วัดกันที่ปริญญา” ปณิธานของลูกชาวนาพันธุ์แท้ “ผู้ใหญ่ร่ม วรรณประเสริฐ” ประธานเครือข่ายชาวนาลุ่มเจ้าพระยา-ป่าสัก แห่งบ้านห้วยทองหลาง ต.ห้วยขมิ้น อ.หนองแค จ.สระบุรี ผู้จุดประกายในการนำเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” มาปรับใช้ในอาชีพทำนา จนประสบผลสำเร็จในแง่ของการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต ก่อนขยายผลไปสู่ชาวนาทั่วประเทศในปัจจุบัน แต่กว่าจะถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เขาต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ในเรื่องดินและปุ๋ย ทั้งการศึกษาจากตำรา การศึกษาดูงาน ตลอดจนการอบรมสัมมนาคอร์สสั้นๆ จากปรมาจารย์ด้านดินและปุ๋ยของเมืองไทยอย่าง “ศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันท์” ผู้คิดค้นเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” ดร.ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์ ประธานมูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน และ ดร.รุ่งโรจน์ ด่านพิทักษ์ธรรม อาจารย์ภาควิชาปฐพี คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จากนั้นจึงนำมาทดลองปฏิบัติจริง บนเนื้อที่กว่า 62 ไร่ ซึ่งเป็นผืนนาที่ได้รับมรดกจากพ่อแม่
หากย้อนไปเมื่อ 8 ปีที่แล้ว หรือปี 2551 ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขารู้จักปุ๋ยสั่งตัดเป็นครั้งแรก หลังได้รับคัดเลือกจากสำนักงานเกษตรจังหวัดสระบุรีให้เป็นตัวแทนของพี่น้องชาวนาจำนวน 5 คน เข้าร่วมโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัดที่ จ.ลพบุรี โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ร่วมกับกรมวิชาการเกษตรจัดขึ้น และครั้งนี้เองทำให้ผู้ใหญ่ร่มได้รู้จักกับปรมาจารย์ด้านดินและปุ๋ยทั้งสองท่านคือศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันท์ และดร.ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์ ก่อนจะเข้ามาร่วมกันสร้างเครือข่ายชาวนาในการนำเทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัดมาใช้ในกระบวนการผลิต จนเกิดเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน
“ปี 51 เริ่มรับความรู้ปุ๋ยสั่งตัดเป็นครั้งแรก จากอาจารย์ทั้งสองท่าน (ศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันท์ และดร.ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์) พอดีช่วงนั้นทาง ธ.ก.ส.ร่วมกับกรมวิชาการเกษตรจัดสัมมนาที่ลพบุรี สำนักงานเกษตรจังหวัดถามว่ามีกลุ่มไหนที่เข้มแข็งที่จะพัฒนาได้ก็เล็งมาที่กลุ่มผม 5 คนเขาก็ส่งไปร่วม หลังจากนั้นก็มาทดลองทำก่อนประมาณ 3 ปี ปีแรกทำ 5 คน พอปีที่ 2 เพิ่มได้มา 13 คน ตอนปี 53 เกิดเพลี้ยกระโดดระบาดเต็มพื้นที่นาข้าวได้รับความเสียหายทั้งหมด แต่ของเราไม่ได้รับผลกระทบ พอเขาเห็นความสำคัญตรงนี้ก็เลยแห่เข้ามาทำด้วย แล้วก็ทำแปลงสาธิตด้วย เพื่อให้เกษตรกรเห็น เพื่อเปรียบเทียบกับแปลงข้างๆ ระหว่างใช้กับไม่ใช้ปุ๋ยสั่งตัด พอผมทำสำเร็จก็มีสโมสรโรตารีเข้ามาช่วย” ผู้ใหญ่ร่มย้อนอดีตให้ฟัง
จากนั้นสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้นำเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” ไปขยายผลในพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิในภาคอีสานตอนใต้ 5 จังหวัด ผลปรากฏว่าเกษตรกรได้กำไรเพิ่มขึ้น 10 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีที่เกษตรกรถือปฏิบัติอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่มีปัญหาข้าวเมล็ดลีบ ขณะที่กรมส่งเสริมการเกษตรก็นำไปขยายผลในพื้นที่ปลูกข้าวในเขตชลประทานภาคกลาง 20 จังหวัด ผลปรากฏว่าสามารถลดค่าปุ๋ยเคมีเฉลี่ยไร่ละ 400 บาท ต่อมาปี 2553 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ ส.ป.ก.นำไปขยายผลในพื้นที่ปลูกข้าวโพดใน 4 ตำบลของ อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ผลปรากฏว่าค่าปุ๋ยเฉลี่ยลดลงจากไร่ละ 1,317 เหลือ 880 หรือร้อยละ 33 ส่วนผลผลิตเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากไร่ละ 1,160 เป็น 1,284 กิโลกรัม หรือร้อยละ 11
หลังเห็นความสำเร็จจากการนำไปใช้กับข้าวโพดใน อ.นครไทย จ.พิษณุโลก จากนั้นปี 2555 จึงขยายผลปุ๋ยสั่งตัดมายังพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังใน อ.บางระกำ ผลปรากฏว่าสามารถลดค่าปุ๋ยเคมีลงเฉลี่ยร้อยละ 12 หรือจาก 442 เหลือ 382 ต่อไร่ ขณะที่ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยจาก 653 เป็น 855 กิโลกรัมต่อไร่ ไม่เพียงแต่ที่ราบลุ่มภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างที่นำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้ แต่ชาวนาในภาคเหนือและภาคอีสานก็ยังให้ความสนใจ โดยในปี 2556 มีการนำไปใช้ในแปลงทดลองของเกษตรกรบ้านโนน 15 แปลง และบ้านคู 11 แปลง ใน อ.ซำสูง จ.ขอนแก่น พบว่าปุ๋ยสั่งตัดทำให้ชาวนาใช้ปุ๋ยเคมีเฉลี่ยลดลงจาก 588 เหลือ 368 บาทต่อไร่ หรือลดลงร้อยละ 37 ขณะที่ผลผลิตข้าวเพิ่มจาก 604 เป็น 704 กิโลกรัมต่อไร่หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 16
ผู้ใหญ่ร่มยอมรับว่า เกษตรกรส่วนใหญ่มีความเชื่อแบบผิดๆ ว่า ถ้าใส่ปุ๋ยมากจะได้ผลผลิตมาก การใส่ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนมากเกินไปจะทำให้ต้นข้าวอวบเขียวจัด เป็นที่สนใจของโรคและแมลงเข้ามาทำลาย แต่ถ้าใช้ปุ๋ยถูกชนิด ถูกปริมาณ ถูกเวลาและถูกวิธีจะช่วยให้ผลผลิตสูง ต้นทุนต่ำ เปรียบเสมือนคนรับประทานอาหารถูกหลักโภชนาการครบ 5 หมู่ จะทำให้สุขภาพแข็งแรง ไม่ล้มป่วยได้ง่าย ดังจะเห็นจากชาวบ้านในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางนั้น ส่วนใหญ่มักใช้ปุ๋ยสูตร 16-20-0 แต่ดินส่วนใหญ่ขาดโพแทสเซียม จึงทำให้ข้าวเมล็ดลีบ ต้นข้าวอ่อนแอ โรคแมลงระบาด ต้องฉีดสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชมากขึ้น ทำให้ต้นทุนสูงและยังส่งผลต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภคด้วย
กระทั่งปี 2556 ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เมื่อกองทุนคิวม่า มูลนิธิมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดทำโครงการ “คลินิกดิน” เพื่อแก้ปัญหาปุ๋ยปลอม ปุ๋ยแพงและการใช้ปุ๋ยผิด โดยเริ่มจัดตั้งคลินิกดินเป็นครั้งแรกที่สระบุรี สุพรรณบุรี และขอนแก่น และนำร่องที่เทศบาลตำบลดอนพุด อ.ดอนพุด จ.สระบุรี เพื่อแก้ปัญหาให้เกษตรกรแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว (วันสต็อปเซอร์วิส) โดยให้บริการตรวจดิน แนะนำการใช้ปุ๋ยและจำหน่ายแม่ปุ๋ย รวมทั้งใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ดินและปุ๋ยของชุมชน
จากนั้นสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สโมสรโรตารี่กรุงเทพเบญจสิริ สโมสรไลออนดุสิตา กรุงเทพฯ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และมูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน ได้สนับสนุนกลุ่มเกษตรกรในการจัดตั้งคลินิกดิน ปัจจุบันมีทั้งหมด 36 แห่งใน 14 จังหวัดทั่วประเทศ ส่งผลให้เกิดเครือข่ายลุ่มเจ้าพระยา-ป่าสัก และเครือข่ายกก อิง ลาว และลุ่มน้ำคำ จ.เชียงราย ภายใต้การนำของผู้ใหญ่ร่ม ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนในการจัดตั้งคลินิกดิน จนกระทั่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้นำแนวคิดดังกล่าวไปต่อยอดจัดทำโครงการศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน 1 อำเภอ 1 แห่ง (882 แห่งทั่วประเทศ) ตามนโยบายประชารัฐของรัฐบาล
หลังประสบความสำเร็จในการสร้างเครือข่ายการขยายผลเพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ผู้ใหญ่ร่มย้ำว่า จากนั้นไปจะมีการถอดบทเรียนการใช้เทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัด โดยมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในกระบวนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องทุ่นแรงทำนา จัดทำร้านค้าชุมชน สร้างศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน เทคนิคการปลูกพืชใช้น้ำน้อย รวมถึงการทำนาต้นทุนต่ำ โดยใช้ที่สาธารณประโยชน์จำนวน 9 ไร่ ใน ต.โคกสะอาด อ.หนองแซง จ.สระบุรี จัดทำเป็นศูนย์เรียนรู้ครบวงจรให้แก่เกษตรกรที่สนใจได้มาเรียนรู้ดูงานในอนาคตอีกด้วย
เส้นทางชีวิตผู้ใหญ่ร่ม
ผู้ใหญ่ร่ม วรรณประเสริฐ ปัจจุบันอายุ 54 ปี อยู่บ้านเลขที่ 14 บ้านห้วยทองหลาง หมู่ 2 ต.ห้วยขมิ้น อ.หนองแค จ.สระบุรี เป็นลูกคนที่ 6 ในจำนวนพี่น้อง 7 คน เริ่มศึกษาที่โรงเรียนหินกองพิบูลนุสรณ์ กระทั่งจบ ป.7 จากนั้นเข้าเรียนต่อในระดับมัธยม แต่จำเป็นต้องออกกลางคันเพื่อมาช่วยพ่อแม่ทำนาหาเงินให้พี่กับน้องเรียน จากนั้นก็สัมผัสวิถีลูกจ้างอยู่พักใหญ่ในตำแหน่งพนักงานธุรการโรงงานปูนซีเมนต์ใน อ.แก่งคอย ก่อนออกมาสานต่ออาชีพทำนาของครอบครัว พร้อมกับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านแทนผู้เป็นบิดา ขณะเดียวกันก็ได้สานต่อกลุ่มชาวนาที่บิดาเป็นผู้ก่อตั้งเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2522 ผู้ใหญ่ร่มสมรสกับนางจันทา วรรณประเสริฐ มีบุตรด้วย 3 คน เป็นชาย 2 คน หญิง 1 คน นับเป็นบุคคลที่น่ายกย่องสรรเสริญที่อุทิศตนเพื่อส่วนรวม เป็นวิทยากรให้ความรู้ แก่กลุ่มเกษตรกรทั้งในพื้นที่และต่างจังหวัด อีกทั้งยังเป็นผู้ริเริ่มการผลิต เมล็ดพันธุ์ พร้อมจดทะเบียน วิสาหกิจชุมชน และมีการบริหารจัดการใช้ปุ๋ยด้วยการนำความรู้เทคโนโลยีใช้ปุ๋ยลดต้นทุน "ปุ๋ยสั่งตัด” มาใช้จนประสบความสำเร็จในทุกวันนี้
ขั้นตอนใช้ตามค่าวิเคราะห์ดิน"ปุ๋ยสั่งตัด”
การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินสำหรับเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” มี 3 ขั้นตอนประกอบด้วย ขั้นตอนที่ 1 ตรวจสอบข้อมูลชุดดิน โดยสอบถามจากสถานีพัฒนาที่ดินในพื้นที่หรือศึกษาจากแผนที่ชุดดินระดับตำบลหรือที่เว็บไซต์ www.soil.doae.go.th ขั้นตอนที่ 2 วิเคราะห์เอ็น-พี-เค (N-P-K) โดยชุดตรวจสอบเอ็น-พี-เค ในดินแบบรวดเร็วใช้เวลาเพียง 30 นาทีและเกษตรกรสามารถทำได้ด้วยตัวเอง แต่ต้องเก็บตัวอย่างดินให้ถูกวิธี ขั้นตอนที่ 3 ใช้ปุ๋ยตามคำแนะนำ โดยศึกษาจากคู่มือปุ๋ยสั่งตัดหรือโปรแกรม SimRice สำหรับข้าวได้ที่เว็ปไซต์ www.ssnmthai.com